ต้อกระจก กับความเสื่อมสภาพของร่างกาย !
คนวัยกลางคนที่กำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุต้นๆ อาจเริ่มเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาสายตาที่พบอยู่ ทั้งตามองไม่ชัดในที่มีแสงสว่างจ้า เห็นภาพซ้อน หรือแสงไฟฟุ้งกระจายเป็นแฉกโดยเฉพาะตอนกลางคืน จนรบกวนการขับรถ หรือสังเกตเห็นดวงตามีฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา อาการเหล่านี้อาจเป็นต้อกระจกได้ค่ะ….
โรคต้อกระจก (Cataract) มักพบในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป โรคนี้เกิดจากเลนส์แก้วตาขุ่นจากการเสื่อมสภาพ ทำให้ไปบดบังแสงที่จะผ่านเข้าไปในดวงตา ดังนั้นแสงจึงส่งผ่านไปยังจอรับภาพได้ไม่เต็มที่ ทำให้มองเห็นไม่ชัด เหมือนมีหมอกบัง แต่เมื่อมองแสงสว่างดวงตาจะพร่า และมองเห็นแสงกระจายรอบดวงไฟ
***โรคต้อกระจก หากผู้ป่วยไม่รักษาปล่อยให้อาการทิ้งไว้ ประมาณ 1 ปี แก้วตาจะขุ่นขาว และอาจทำให้มองไม่เห็นได้***
สาเหตุ และปัจจัยของโรคต้อกระจก
1. ภาวะเสื่อมตามวัยของผู้สูงอายุ
2. เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิด
3. ได้รับอุบัติเหตุ ตาถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรง
4. ใช้ยาหยอดตา/ทานยา ที่ผสมเสตียรอยด์นานๆ
5. โรคเบาหวาน
6. ทำงานกลางแจ้ง ตากระทบแสงแดดบ่อยๆ โดยไม่สวมแว่นกันแดด
7. การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เร่งการเกิดต้อกระจก
การรักษาทำได้อย่างไร?
โรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการผ่าตัดจะเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียม แทนที่เลนส์แก้วตาเดิมที่ขุ่น (เสื่อมสภาพ) โดยปัจจุบันวิธีการผ่าตัดที่นิยม มี 2 แบบ ได้แก่
1. การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification)
2. การผ่าตัดต้อกระจก และฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์ (Femtosecond laser)
เราป้องกันโรคนี้ได้หรือไม่?
การป้องกันนั้นทำได้ยาก เพราะเกิดจากความเสื่อมตามวัยของเลนส์แก้วตา แต่เราสามารถชะลอความเสื่อมได้ เช่น เลี่ยงการสูบบุหรี่, ทานอาหารถูกสุขอนามัย และรับวิตามินที่เพียงพอ, ลดการโดนแสงแดด หรือสวมแว่นกันแดดที่กรองแสงUV เป็นต้น
อย่าลืมนะคะ การรักษาหมั่นดูแลถนอมดวงตาก็เป็นเรื่องสำคัญ พยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ดวงตารวมถึงร่างกายเสื่อมสภาพ และสำคัญมากถ้าหากเรามีอาการส่อแววเป็นโรคต้อกระจก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที ยิ่งเร็วเท่าไหร่ดวงตาจะได้กลับมามองเห็นดีขึ้นเร็วๆ อีกครั้งค่ะ ^-^